ทีทีบี มองธุรกิจแบงก์ปีนี้สดใส คาดปี’66 รับมือเศรษฐกิจชะลอ-ต้นทุนการเงินเพิ่ม

เรื่องที่น่าสนใจ เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ทีทีบี ย้ำธุรกิจแบงก์ปี’66 เผชิญความท้าทาย 2 เด้ง เจอ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย-ต้นทุนการเงินดอกเบี้ย-FIDF” เชื่อธนาคารปรับดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50-0.60% ด้านหนี้เสียปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.2% อยู่ที่ 2.8% เผยแนวโน้มเพิ่มขึ้น-ลดลงเล็กน้อย เหตุคนออกจากผลกระทบโควิด-19 แต่เจอภาวะค่าครองชีพสูงจากเงินเฟ้อ

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2566 จะเป็นปีที่มีความท้าทาย โดยธุรกิจจะเผชิญ 2 ปัจจัยเสี่ยง คือ 1.เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวถดถอย (Recession) ซึ่งหลังจากปีนี้ลูกค้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19

และ 2.อัตราดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้น ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและต้นทุนที่เกิดจากการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จะกลับมาอยู่ในระดับเดิม 0.46% ในวันที่ 1 มกราคม 2566 จากเดิมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราเงินนำส่งลงมาอยู่ที่ 0.23%

ดังนั้น ภาพในปี 2566 ภาระต้นทุนที่เกิดจากความเสี่ยงในเรื่องของโควิด-19 จะลดลง แต่ภาระในเรื่องของ FIDF จะมาแทน โดยในช่วงที่มีการปรับลดอัตราเงินนำส่ง จะเห็นว่าธนาคาพาณิชย์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยตระกูล M ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) ลดลงประมาณ 0.50% ต่อปี

“ธปท.ไม่ต้องการขึ้นดอกเบี้ยแบบถี่ ๆ และเร็ว ๆ เหมือนสหรัฐ แต่ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แบงก์จะต้องปรับเงินกู้ขึ้น แต่ก็ต้องดูแลกลุ่มเปราะบาง เพราะดอกเบี้ยขึ้นอาจจะกระทบหนี้เสีย แต่ถ้าไม่ขึ้นจะเจอปัญหาเงินไหลออก ซึ่งปีหน้าจะเจอ 2 เด้ง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอและต้นทุนดอกเบี้ย โดยใน 1 ม.ค.ปี’66 ต้องกลับมาจ่าย FIDF เต็ม ๆ 0.46% ดังนั้น ในปีหน้าคาดว่าอัตราดอกเบี้ยแบงก์ทั้งระบบจะต้องปรับขึ้นอย่างน้อย 0.50-0.60% ต่อปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับพอร์ตสินเชื่อของแต่ละธนาคารด้วย”

สำหรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปี 2566 คาดว่าการปรับขึ้นและลดลงเล็กน้อย เพราะจะมีหนี้เสียทั้งไหลเข้าและออก โดยหนี้เสียที่มีการไหลออก จะเป็นลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เริ่มกลับมาชำระได้ ส่วนขาเข้าจะเจอปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบการส่งออก

หรือแม้แต่กลุ่มลูกค้าที่ออกจากมาตรการช่วยเหลือไปแล้วและกลับเข้ามาขอความช่วยเหลือใหม่ เพราะได้รับผลกระทบจากภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อ ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง

“ปีนี้ถือว่าทำได้ดีเกินคาด โดยตัวเลขเอ็นพีแอลทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่ที่ 2.8% จากเป้าที่วางไว้ 3.2% แต่ปีหน้าจะเป็นปีที่ยาก เพราะมีเรื่องของเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเราเริ่มเห็นสัญญาณลูกหนี้ที่ออกจากมาตรการกลับเข้ามาขอความช่วยเหลือในช่วง 3-5 เดือนที่ผ่านมา แต่อาจจะยังไม่เยอะมาก ซึ่งเราก็ช่วยเหลือในการยืดหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า”